หน้าแรก / ค้นหา / โครงการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย
โครงการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย

              โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย โดยพิจารณาครอบคลุมทั้งเชิงเทคนิค เศรษฐศาสตร์ สังคม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืนสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ อันส่งผลให้เกิดการลดการใช้งานเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อผลิตไฟฟ้า และสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศสู่อุทยานแห่งชาติสีเขียว โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช การดำเนินงานประกอบด้วย 7 ขั้นตอน เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน การศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ การจัดทำแผนที่พลังงาน การสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนสูง การศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยใช้โปรแกรม HOMERpro การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น และการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสู่อุทยานแห่งชาติสีเขียวด้วยพลังงานหมุนเวียน

              ผลการดำเนินโครงการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 154 อุทยานแห่งชาติ และ 61 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมหน่วยงานในสังกัดทั้งสิ้น 1,648 หน่วยงาน แยกเป็นหน่วยงานที่ไฟฟ้าเข้าถึงจำนวน 910 หน่วยงาน และไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจำนวน 738 หน่วยงาน ปริมาณความต้องการใช้พลังงานของกลุ่มหน่วยงานที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงเฉลี่ย 16.25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน โดยกลุ่มที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 0-5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน มีมากที่สุดรวม 268 หน่วยงาน รองลงมาคือ ช่วง 5-10 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน 10-20 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน 20-50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน 50-100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน จำนวน 189 หน่วยงาน 157 หน่วยงาน 81 หน่วยงาน และ 20 หน่วยงานตามลำดับ มีเพียง 13 หน่วยงานมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากว่า 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน และ 10 หน่วยงานที่ไม่ต้องการใช้ไฟฟ้าหรืออยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงาน ขณะที่แหล่งผลิตพลังงานในหน่วยงานที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ รองลงมาคือดีเซลเจนเนอเรเตอร์ และไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อพิจารณาสมดุลพลังงานโดยรวม พบว่าหน่วยงานทั้งหมดขาดแคลนพลังงานโดยปริมาณการขาดแคลนพลังงานสูงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากพันธกิจของหน่วยงานกลุ่มอุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการให้บริการนักท่องเที่ยว

              ผลการศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย 6 กลุ่ม ตามช่วงปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายวัน บนข้อมูลพื้นฐานเดียวกันที่จ่ายไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง อายุโครงการ 20 ปีราคาน้ำมันดีเซลรวมค่าขนส่ง 30 บาท/ลิตร พบว่าระบบผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำที่สุด (ต่ำกว่า 10 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับเงินลงทุนระบบท่อส่งน้ำในแต่ละพื้นที่ และมีหน่วยงานเพียงเล็กน้อยที่ระบุว่ามีศักยภาพในการนำระบบกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไปใช้งาน ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพพลังงานน้ำพบว่ารูปแบบการผลิตพลังงงานไฟฟ้าที่เหมาะสมในกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน คือ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เนื่องจากมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำที่สุดที่ 14 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลาคืนทุนในปีแรก แต่เมื่อปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมมากที่สุด อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเฉลี่ย 12 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลาคืนทุนในสองปีแรก อย่างไรก็ตามสามารถนำรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างไปได้ แต่จะส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการสูญเสียโหลด (Loss of Load Probability) ในรูปแบบระบบผลิตไฟฟ้าแบบแหล่งผลิตพลังงานเดียว และอัตราค่าพลังงานและปริมาณมลพิษที่เปลี่ยนไปในรูปแบบระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน

              แผนแม่บทการพัฒนาอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ป่าสีเขียวด้วยพลังงานหมุนเวียนที่พัฒนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างยั่งยืน ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนและสามารถเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของกระทรวงพลังงาน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2560 – 2579 แผนแม่บทอุทยานแห่งชาติแบบบูรณาการ พ.ศ. 2560-2564 และยุทธศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพการผลิต/การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมและยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างจิตสำนึกและเข้าถึงองค์ความรู้ และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดหาระบบผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน โดยการนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการประสานการมีส่วนร่วมการปฏิบัติตามแผน

 

คลังความรู้ : เทคโนโลยี และงานวิจัยด้านพลังงาน
ปีพิมพ์ : -
เจ้าของผลงาน : มหาวิทยาลัยโทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คำสำคัญ : #เทคโนโลยี #พลังงาน
จำนวนผู้เข้าชม : 310
ปีที่บันทึก : -
ปีที่เนื้อหาเกิดขึ้น : -
หมายเหตุ : -
รายการที่เกี่ยวข้อง
คลังความรู้ : ความรู้ด้านไฟฟ้า
คลังความรู้ : ความรู้ด้านไฟฟ้า
คลังความรู้ : ความรู้ด้านไฟฟ้า